บทความ : การประปานครหลวงกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่องค์กรชั้นนำในอาเซียน
“เป็นองค์กรชั้นนำด้านการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นเลิศ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในระดับแนวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ให้บริการงานประปา” (วิสัยทัศน์ กปน.)
จากวิสัยทัศน์ กปน. นำมาสู่การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อันอาจจะส่งผลต่อการก้าวสู่บทบาทการเป็นผู้นำในด้านการบริการงานประปาในระดับแนวหน้าสุดของกลุ่มประเทศอาเซียนตามวิสัยทัศน์ของ กปน.และยังสอดรับกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการมอบให้แต่ละรัฐวิสาหกิจในสังกัดเตรียมความพร้อมสำหรับประชาคมอาเซียน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการด้านน้ำ แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะมีจุดอ่อนในแง่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต่างจากประเทศอื่นๆในอาเซียน แต่สิงคโปร์ ก็มีความโดดเด่นที่สุดในอาเซียน สิ่งที่เราควรนำมาพิจารณาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี คือ วิถีการจัดการน้ำที่ส่งเสริมให้ประเทศสิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศผู้นำด้านน้ำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสิงคโปร์ตั้งคณะกรรมการบริหารงานด้านน้ำ ใช้ชื่อว่า Public Utility Board (PUB) ซึ่งดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการ สำหรับประเทศไทย การประปานครหลวง (กปน.) มีหน้าที่ผลิตและให้บริการน้ำประปาในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการค้า การท่องเที่ยว การศึกษา อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจสำคัญของประเทศที่ต่างล้วนต้องการบริการน้ำประปาที่สะอาด ไหลแรงอย่างทั่วถึง ซึ่ง กปน. ก็สามารถให้บริการได้อย่างพร้อมมูล จึงมั่นใจที่จะนำพาองค์กรให้เป็นผู้นำด้านน้ำจากนานาประเทศได้เช่นเดียวกัน แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น เรามาดูเพื่อนบ้านที่เราต้องการเทียบเคียงอย่างสิงคโปร์ดูบ้าง
แม้ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่หายาก แต่สิงคโปร์สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะน้ำถือเป็นมิติด้านความมั่นคงของชาติ ประกอบด้วยแหล่งน้ำหลัก 4 แห่ง (The four taps) ได้แก่ น้ำฝน จากอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น นอกจากนี้ สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำ โดยเปลี่ยนน้ำเสียหรือน้ำใช้แล้วให้กลายเป็นน้ำกลับมาใช้ใหม่ที่มีคุณภาพสูง เป็นแบบอย่างการแก้ปัญหาให้ประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันสิงคโปร์มีโรงงานรีไซเคิลน้ำ โดยน้ำที่ผลิตได้ซึ่งใช้ชื่อว่า NEWater จะถูกนำไปผสมกับน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ก่อนส่งผ่านระบบประปาไปยังผู้บริโภค โดยผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย จนได้น้ำที่มีคุณภาพสูง โรงแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ซี่งมีอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งสามารถผลิตน้ำประปาจากทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน นอกจากนี้ เขื่อนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยังสามารถผลิตน้ำเพื่อสนองการบริโภคได้ อีกด้วย และส่วนสุดท้าย น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงน้ำที่นำเข้าจากมาเลเซีย เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะ น้ำจืดจึงมีค่อนข้างจำกัด ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลน และพึ่งพาการนำเข้าน้ำจืดจากมาเลเซียมานานหลายสิบปี รัฐบาลจึงมุ่งมั่นพัฒนาระบบประปาให้ทันสมัยและเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถพึ่งพาทรัพยากรน้ำของตนเองได้ ก่อนที่ข้อตกลงสั่งซื้อน้ำจากมาเลเซียฉบับล่าสุดจะหมดอายุลงในปี 2061 ดังนั้นการรีไซเคิลน้ำจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับสิงคโปร์ ในปัจจุบันประเทศไทยนั้นเริ่มมีการรณรงค์ในเรื่อง Zero Discharge กันมากขึ้น ดังนั้นการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิลก็เริ่มมีมากขึ้น
การลงทุนอย่างชาญฉลาดในด้านเทคโนโลยี ซึ่งโรงงานผลิตน้ำ Newater และโรงงานผลิตน้ำจากน้ำทะเล เป็นความสำเร็จจากการมุ่งมั่นวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ทำให้สิงคโปร์สามารถมีน้ำไว้ใช้ได้อย่างพอเพียงด้วยตัวเอง ส่วนน้ำที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล หรือ NEWater นั้นจะใช้ในวงการอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งน้ำในส่วนนี้คาดว่าจะสามารถผลิตได้มากขึ้น จนรองรับความต้องการในประเทศได้ก่อนปี 2061 ความสำเร็จในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่วางไว้ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อการยอมรับน้ำที่ผ่านการใช้แล้ว นอกจากนั้น การใช้แหล่งเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นศูนย์รวมชุมชน เพื่อชักนำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำ เกิดความหวงแหนและตระหนักในคุณค่าของน้ำ เนื่องจากสิงคโปร์ใช้กลไกราคาในการส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดน้ำ สิงคโปร์ลงทุนอย่างมากกับโครงสร้างพื้นฐานและกำหนดอัตราค่าน้ำประปาในสิงคโปร์เป็นราคาที่สะท้อนความ หายากของน้ำในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนของประเทศ โดยโครงสร้างค่าน้ำประกอบด้วย ค่าน้ำ ค่าภาษีอนุรักษ์น้ำ ค่าบำบัดน้ำเสีย และค่าธรรมเนียมสุขภัณฑ์ การกำหนดราคาค่าน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าน้ำทุกหยดมีค่า ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนั้น รายได้ค่าน้ำยังนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการผลิตและสูบจ่ายน้ำประปา และก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต
น้ำประปาของสิงคโปร์สามารถดื่มได้โดยตรงจากก๊อก มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่น้ำดิบจนถึงน้ำประปาในระบบจ่ายน้ำ ในแต่ละเดือนมีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำมากกว่า 80,000 ครั้งและวิเคราะห์สารเคมีในน้ำมากกว่า 290 รายการ ซึ่งมากกว่าที่ WHO กำหนดไว้ถึง 130 รายการ การจัดการด้านคุณภาพน้ำของ PUB ได้รับการทบทวนปีละ 2 ครั้ง โดยผู้ตรวจสอบอิสระภายนอกที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ PUB ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำและการรณรงค์ต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความจำเป็นในการประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน
สำหรับการประปานครหลวง (กปน.) นั้น ได้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยนักวิทยาศาสตร์ กปน. ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในระบบผลิต ระบบเส้นท่อ และจากบ้านเรือนผู้ใช้น้ำ เพื่อตรวจวิเคราะห์ปีละกว่า 30,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายนอก อาทิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานอาหารและยา ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพน้ำในระบบท่อประปาทั่วทุกเขตของ การประปานครหลวง รวมทั้งจากโรงงานผลิตน้ำและสถานีสูบจ่ายทุกแห่ง ซึ่งผลการตรวจสอบ ปรากฏว่าคุณภาพน้ำประปาผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มที่กำหนดโดย WHO ได้ถึง 100% ทุกๆ ตัวอย่าง
ดังนั้น การเตรียมพร้อมให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราถึงจะต้องจับตามองประเทศสิงคโปร์ เพื่อศึกษาพิจารณาถึงจุดเด่นจุดด้อย เพราะสิ่งเหล่านั้นจะเป็นคำตอบที่ทำให้ชาว กปน. ต้องเรียนรู้ประเทศอาเซียนที่ประกอบกิจการประปาเช่นเดียวกับเรามากขึ้น เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อม และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้