ถามตอบคุณภาพน้ำ
-
Q:
เปิดก๊อกน้ำมาน้ำประปามีสีขุ่นมัวและมีคราบเกาะตามสุขภัณฑ์สีแดงดำ น้ำประปาสกปรกดื่มไม่ได้
A:
การที่เปิดก๊อกน้ำมีน้ำประปาขุ่นมัวเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งของการใช้น้ำ และไม่ได้ขุ่นมัวตลอดเวลานั้น อยากให้ผู้ใช้น้ำสังเกต ดังนี้
- น้ำขุ่นมัวเกิดขึ้นเมื่อเปิดใช้น้ำทันที พอทิ้งระยะสักพักความขุ่นมัวก็จะจางลงเรื่อย ๆ และใสเป็นปกติเช่นนีเป็นประจำ
- น้ำขุ่นมัวเกิดขึ้นเมื่อหยุดการใช้น้ำเป็นเวลานาน เมื่อเปิดก๊อกมาจะขุ่นมัวมากเป็นระยะ ๆ ที่มีการหยุดใช้น้ำ
การที่เกิดอาการเช่นนั้น ผู้ใช้น้ำจะต้องตรวจสอบระบบท่อภายในบ้าน อาจจะเก่าเกินอายุใช้งาน เกิดสนิมเหล็กภายในท่อเหล็กอาบสังกะสี โดยปกติท่อเหล็กอาบสังกะสีจมีอายุไม่เกิน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ท่อตามเกรดต่าง ๆ ซึ่งมีความหนาบางของการเคลือบสังกะสี (ไม่เป็นสนิม)และความหนาของท่อเมื่อเกิดสนิมภายในท่อจะสะสมเกาะท่อและหลุดประปนมากับน้ำประปา จะทำให้ขุ่นมัวเป็นระยะ เมื่อมีการใช้น้ำและจะเกาะติดแน่นกับสุขภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้จะทำให้ปริมาณคลอรีนที่เหลือในน้ำหมดไป ไม่ปลอดภัยในการบริโภคควรสำรวจและเปลี่ยนท่อใหม่
-
Q:
น้ำประปาสะอาดดื่มได้จะมีวิธีสังเกตง่าย ๆ อย่างไรบ้าง
A:
น้ำประปาที่สะอาดมีข้อสังเกต ดังนี้
- ความใสของน้ำประปาจะต้องไม่มีตะกอน หรือมีสีอื่น ๆ เจือปน เมื่อตั้งทิ้งไว้นาน ๆ
- ไม่มีรสกร่อย รสฝาด หรือมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์
- น้ำประปาจะมีคลอรีนเหลืออยู่ในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคในการขนส่งน้ำประปาตามท่ออยู่เล็กน้อยไม่ต่ำกว่า 0.2 มก./ล. จะมีกลิ่นฉุนของคลอรีนเล็กน้อยแสดงถึงกลิ่นของความสะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคต่าง ๆ
-
Q:
ต้มน้ำประปาแล้วมีตะกอน และมีตะกรันเกาะรอบกาน้ำ ถ้าดื่มน้ำไม่ต้มจะอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
A:
น้ำปกติทั่วไปจะมีความกระด้างเล็กน้อย เมื่อนำมาต้มจะเกิดตะกรัน หรือตะกอนของ CaCO3 (หินปูน) ให้เห็นปริมาณจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความกระด้างของน้ำ โดยปกติควรมีความกระด้าง 80-100 มก./ล. องค์การอนามัยโลกไม่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย โดยปกติอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทำให้น้ำที่มีความกระด้างเกิดตะกอนหรือตะกรันอุดตันอวัยวะต่าง ๆ ได้ การดื่มน้ำที่ต้มแล้ว หรือไม่ต้มจะไม่มีอันตรายต่อร่างกาย
-
Q:
ดื่มน้ำประปาแล้วเป็นโรคนิ่วหรือไม่
A:
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการรวมตัวของเกลือแร่ที่มีอยู่ในน้ำปัสสาวะอาจจะเป็นเกลือฟอสเฟต เกลือคาร์บอเนตของแคลเซียม หรือ แมกนีเซียม หรืออาจจะเป็นกรดยูริค หรือแคลเซียมออกซาเลท โดยปกติ น้ำปัสสาวะสามารถละลายผลึกของเกลือเหล่านี้ได้ แต่ถ้ามีความไม่สมดุลเกิดขึ้น เกลือพวกนี้จะตกตะกอน และเกาะรวมตัวเป็นก้อนนิ่วได้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดนิ่วได้ คือ การดื่มน้ำน้อยเกินไป การบริโภคอาหารที่มีสารฟอสเฟตต่ำ บริโภคอาหารที่มีสารออกซาเลท และยูริคสูงเป็นต้น (อาหารที่มีฟอสเฟตสูงคือ เนื้อ นม ไข่ ถั่วอาหารที่มีออกซาเลทสูงคือ ผักโขม ผักติ้ว หน่อไม้ และอาหารที่มียูริคสูงคือ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก ยอดผักอ่อนบางชนิด)
ไปที่หน้า
FAQ หากคุณมีข้อสงสัยส่งมาหาเราจะมีผู้ดูแลระบบรับเรื่อง
ขอบคุณที่ส่งคำถามมาให้เรา
หลังจากทางทีมงานได้รับคำถามของคุณแล้ว
แล้วจะรีบตอบคำถามของคุณให้เร็วที่สุด
หรือหากมีคำถามสงสัยเกี่ยวกับการประปา สามารถติดต่อ MWA Callcenter 1125