น้ำประปาที่ ต. ทุ่งตะโก อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่นำมาใช้เป็นน้ำตกจากภูเขา เมื่อถูสบู่ไม่เป็นฟอง ทำให้เหนียวตัว เป็นลักษณะของน้ำที่มีความกระด้าง เกิดจากสารประกอบจำพวก แคลเซียม แมกนีเซียม ตรงข้ามกับน้ำอ่อนที่เกิดฟองกับสบู่ได้ง่าย แต่ล้างออกได้ยาก ความกระด้างในน้ำ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- ความกระด้างชั่วคราว หรือความกระด้างคาร์บอเนต เกิดจากสารไบคาร์บอเนตของแคลเซียม และแมกนีเซียม น้ำกระด้างชนิดนี้สามารถกำจัดได้โดย
- การต้มให้เดือด ทำให้เกิดเป็นตะกรันในหม้อน้ำหรือเครื่องใช้ในครัว
- การเติมปูนขาวและตกตะกอน ต้องมีระบบปรับ pH ให้เป็นกลางค่อนไปทางด่างเล็กน้อย ด้วยการเติมกรด H2SO4 อ่อนๆ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ pH ลดลงไปด้านกรด
- ความกระด้างถาวร หรือความกระด้างที่ไม่ได้เกิดจากคาร์บอเนต เกิดจากสารพวกซัล-เฟต และคลดไรด์ ของแคลเซียมและแมกนีเซียม การแก้ไขน้ำกระด้างชนิดนี้มีความยุ่งยาก โดยมีวิธีการ ดังนี้
- กระบวนการ Lime-Soda คือเติม Ca(OH)2 และ Na2CO3 แล้วตามด้วยการตกตะกอน จากนั้นทำการปรับ pH ให้เป็นกลาง เช่นเดียวกับวิธีข้างต้น
- การกรองที่ใช้การแลกเปลี่ยนอิออน เช่น เรซิน
ในแหล่งน้ำบางแห่ง ที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยซึมเข้ามา ทำให้มีปริมาณของเกลือโซเดียม มากเกินปกติ เมื่อนำมาใช้อาบน้ำกับสบู่ จะทำให้เกิดฟองสบู่ได้ยาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับว่า น้ำที่ใช้มีความกระด้างมาก แต่ความจริงมีความกระด้างต่ำมาก ปรากฎการณ์เช่นนี้เรียกว่า ความกระด้างเทียม แต่โซเดียมไม่ได้ทำให้เกิดความกระด้างขึ้นในน้ำ ขีดความจำกัดของความกระด้าง ยังไม่มีการกำหนด อย่างไรก็ตาม น้ำประปาควรมีความกระด้างไม่เกิน 80 -100 มก./ล. ของ CaCO3 เพื่อป้องกันการกัดกร่อนในเส้นท่อ
ระดับความกระด้างของน้ำ
- น้ำอ่อน 75 มก./ล. CaCO3 หรือน้อยกว่า
- น้ำค่อนข้างกระด้าง 75 – 150 มก./ล. CaCO3
- น้ำกระด้าง 150 – 300 มก./ล. CaCO3
- น้ำกระด้างมาก 300 มก./ล. CaCO3 หรือมากกว่า
ดังนั้น ท่านจะต้องทราบว่าน้ำที่ท่านใช้อยู่ มีความกระด้างประมาณเท่าไร และเป็นชนิดไหน เพื่อเลือกวิธีกำจัดที่เหมาะสมต่อไป